บ้านใครมีเด็กขี้โมโหบ้างไหมเอ่ย?

บ้านนี้มีเด็กขี้โมโห

เรื่อง : รัตนา คชนาท
สำนักพิมพ์ : ห้องเรียน

 

เรื่องย่อ 

มะตูมเป็นเด็กขี้โมโห ใครพูดอะไรขัดหูแม้เพียงครึ่งประโยค มะตูมก็โมโหเสียแล้ว
สมาชิกทุกคนในครอบครัวจึงรวมตัวกันคิดค้นวิธีทำให้มะตูมเลิกเป็นเด็กขี้โมโหด้วยของสิ่งของแสนกล 6 อย่าง
แล้วมะตูมจะหายโมโหได้ไหมนะ

........................................................................................



หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอวิธีปรับพฤติกรรมอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ๆ ให้กับผู้ปกครองและเด็ก ๆ ผู้ปกครองจะรู้วิธีจูงใจต่อลูกว่า
จะแก้อาการขี้โมโหของลูกได้อย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันเมื่อเด็กอ่านเรื่องนี้ก็จะได้ย้อนกลับมามองดูตัวเอง
ตรวจสอบอารมณ์ของตน ว่าเราเป็นเด็กขี้โมโหอย่างมะตูมรึเปล่า

 

 

ในขณะเดียวกันการใช้ตัวอักษรหนา เพื่อเน้นคำสำคัญ เพื่อให้เด็กเกิดการเชื่อมโยงในระหว่างการจดจำด้านภาพและคำ
อย่างคำว่า “โกรธ” จะเป็นแบบนี้ “ไม่โกรธ” จะเป็นเช่นนี้ นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ และเมื่อเขาแสดงความโกรธออกมา
ถ้าผู้ปกครองกระตุ้นให้เด็กกลับมาคิดถึงนิทานเรื่องนี้ เด็กก็จะสามารถระลึกความทรงจำ และเกิดการเชื่อมโยงด้านภาพและคำ
เด็กก็จะหยุดพฤติกรรมและคิดว่า สิ่งที่ตนทำนั้นสมควรหรือไม่ และใช่สิ่งที่เขาต้องการไหม

นอกจากนี้เรื่องบ้านนี้มีเด็กขี้โมโหนำเสนอถึงความรักของคนในครอบครัวที่ส่งมาหาตัวเรา ซึ่งสังเกตได้จากการช่วยเหลือกันและกัน
ของคนในครอบครัวที่พยายามหาสิ่งของมาเพื่อให้มะตูมเลิกเป็นคนขี้โมโห แสดงให้เห็นถึงความรักความห่วงใยที่ทำเพื่อคน ๆ หนึ่ง
เมื่อเด็ก ๆ อ่านก็จะเกิดการซึมซับและพฤติกรรมการเลียนแบบ
“ความรู้สึกแห่งการช่วยเหลือและแบ่งปัน” น้องก็อยากช่วยพี่ พี่ก็อยากทำให้น้อง

 

 

สุดท้ายเรื่องนี้ยังนำเสนออย่างชาญฉลาดด้วยการหยิบสิ่งของทั่วไปภายในบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์
การนิยามในมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เราเกิดการสังเกต
การคิด และพลิกมุมมองต่อสิ่งของต่าง ๆ ในเชิงบวก

ดังนั้นถ้าหากว่าง ๆ ลองหยิบของใช้ในบ้าน แล้วมาช่วยกันคิดว่า
ของแต่ละอย่างมันเอาไปใช้อะไรได้บ้าง นอกเหนือจากหน้าที่หลักของมันนะ