“ทำไมการนำเสนอเรื่องความตายจึงเป็นนิทานสำหรับเด็ก?”

“แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ”

เรื่องและรูป : โยโกะ ซาโนะ
แปลและเรียบเรียง : พรอนงค์ นิยมค้า
สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก

มีคนเคยถามพี่ดรุณเกี่ยวกับเรื่อง “แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ” ว่า

 “ทำไมต้องนำเสนอความตายซ้ำตายซากให้เด็กด้วย
เขาไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องรู้เกี่ยวกับความตายเลย มันดูทารุณเกินไป”

แท้จริงแล้ว แมวน้อยได้มอบอะไรให้นอกจากความตาย

หากตัดประเด็นเรื่องความตายที่เรื่องนี้ต้องการนำเสนอออก เราจะพบกับนิยามของความรัก แมวน้อยเกิดมาหลายหมื่นชาติ
มีเจ้าของหลายคน แต่แมวน้อยไม่เคยรักเจ้าของของตนเลยสักครั้ง ทุกครั้งที่แมวน้อยตาย เจ้าของมักจะเป็นฝ่ายเสียน้ำตาและคร่ำครวญ
แมวน้อยวางตัวอยู่เหนือความรู้สึกของมนุษย์ การดูแล อาหาร ความรักจากเจ้าของ สำหรับแมวน้อยแล้ว เป็นเสมือนสิ่งที่แมวน้อยสมควรได้รับ
ดังนั้นมันจึงไม่เคยมอบความรักกลับไป ในชาติสุดท้ายแมวน้อยได้พบกับแมวขาว และมันเรียนรู้ที่จะมอบความรักของมันให้แก่แมวขาว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความรักที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อคือ ความรักที่ไม่ได้เกิดจากการได้รับความรักเท่านั้น
แต่เป็นการส่งความรักกลับคืนไปยังผู้ให้ด้วย เมื่อได้รักและถูกรัก เราก็จะหยุดที่จะตามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มในอนาคต (ชาติหน้า) ดังนั้นแมวน้อยจึงไม่เกิดอีกครั้ง

นอกจากนี้ความรักในนิยามของผู้แต่งนั้นยังเป็นสิ่งขับเคลื่อนชีวิต เมื่อฝ่ายที่สนองตอบจากไป ความรักจึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้
ส่วนหนึ่งก็เป็นความคิดที่ค่อนข้างสุดโต่งเรื่องความรักไปเสียหน่อย ซึ่งต่อมาก็มีหนังสือหลายเล่มที่นิยามความรักที่พลัดพรากแตกต่างออกไป

สุดท้ายนี้คงทิ้งเป็นคำถาม  ถึงความรักที่เรามอบให้แก่เด็ก ๆ เขาตอบความรักกลับมาถึงเราได้ไหม
เขาเป็นเพียงแมวน้อยที่ก่อนจะพบกับแมวขาว หรือตอนนี้กำลังเป็นแมวน้อยที่ได้มอบความรักกลับไปสู่ครอบครัวกันแน่