แม่ไก่สีแดง

เรื่อง : ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต
ภาพ : นุชรี พิเดช
สำนักพิมพ์ : แปลน ฟอร์ คิดส์

 

 

 

เรื่องย่อ

แม่ไก่สีแดงชวนเพื่อนสัตว์ทำขนม แต่ไม่ว่าจะชวนอย่างไรเพื่อนสัตว์ก็พร้อมใจปฏิเสธ แม่ไก่จึงขนมจนเสร็จ
กลิ่นขนมหอมจนเพื่อนสัตว์ทั้งหลายต่างอยากจะช่วยแม่ไก่กินขนม แต่แม่ไก่ปฏิเสธพร้อมนำขนมไปกินเพียงตัวเดียว
วันต่อมา เพื่อนสัตว์ทั้งหลายจึงช่วยแม่ไก่ทำขนม และทั้งหมดก็ได้กินขนมกันอย่างมีความสุข

.................................................................................

 

 

เรื่องนี้บอกอะไรบ้างหนอ

เวลาที่เด็ก ๆ ได้อ่านเราจะรู้สึกว่า ก็ฉันทำด้วยตัวเองทุกอย่าง ฉันย่อมสมควรจะได้รับมัน
ซึ่งความคิดนี้จะดูสุดโต่งไปสักหน่อย คนเขียนจึงใช้วิธีการที่แยบยล ด้วยการใช้พื้นที่หน้าเพียง 1คู่ ในการอธิบายเพิ่มว่า
แม่ไก่ก็ไม่สบายใจเหมือนกันนะ ที่กินทั้งหมด โดยไม่แบ่งใคร แต่แม่ไก่ก็หวังดีอยากให้เพื่อน ๆ รู้ถึงสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไป
ดังนั้นหนังสือเล่มนี้เสนอมุมมองแก่เด็กทั้ง 2ด้าน ด้านแรก เด็กที่ทำทุกอย่างด้วยตนเอง กับด้านที่เด็กกินแรงเพื่อน

.................................................................................

 

 

เด็กที่ทำทุกอย่างด้วยตนเอง ก็จะมีพื้นที่ให้คิดถึงการเผื่อแผ่แบ่งปัน การที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
การรักเพื่อนที่ไม่ต้องแสดงออกว่าต้องยอมตามเพื่อนเสมอไป แต่หมายถึงว่าเราสามารถปฏิเสธ
เพื่อให้เพื่อนได้รู้จักคิด แก้ไข และปรับปรุงตัว รวมถึงทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะให้แภัย เมื่อเพื่อนกลับตัวกลับใจ

.................................................................................

 

 

ในอีกด้านก็แสดงมุมมองสะท้อนไปยังเด็ก ๆ ที่กินแรงเพื่อน ให้กลับมาสำรวจตนเอง
สำรวจถึงการกระทำของตนเองว่า ทำอะไรผิดไปบ้างนะ และเปิดพื้นที่ให้แก้ไขสิ่งที่พลาดพลั้งไป

เด็ก ๆ รู้สึกว่า เมื่อตนทำผิดก็สามารถกลับใจได้ พร้อมมีคนยอมรับ และให้อภัย เด็ก ๆ ที่ทำอะไรผิดพลาด พลั้งไป
ก็จะเริ่มคิด ตระหนักได้ด้วยตนเอง และกระตือรือร้นที่จะแก้ไขสิ่งที่ตนทำผิดพลาด ไม่เพียงแค่ในสังคมของหมู่เพื่อน
แต่อาจส่งผลต่อการพัฒนาด้านรู้คิดสืบเนื่องไปถึงการคิดที่จะช่วยเรื่องการทำงานบ้าน การช่วยเหลือพ่อแม่อีกด้วย

.................................................................................

 

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่เสนอวิธีการอยู่ร่วมในสังคมของเด็ก ๆ ได้อย่างชาญฉลาดและแยบยล
ไม่เพียงแค่การนำเสนอด้านสังคมเท่านั้น หนังสือเล่มนี้สะท้อนถึงธรรมชาติของสัตว์แต่ละตัว (ยกเว้นแม่ไก่แสนขยันของเราไว้สักตัว)
เราจะเห็นว่าหมูนั้น ชอบคลุกตัวในปลักโคลน การกระดิกหางไล่แมลงวัน การกิน
ทั้ง “หยวกกล้วย” และ “รางอาหาร” ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กในยุคปัจจุบันอาจจะไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่าแต่ละอย่างหมายถึงอะไร
เช่นเดียวกับธรรมชาติของเป็ดและแมว
ดังนั้นเมื่อเด็ก ๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เด็ก ๆ ก็จะเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์แต่ละตัวเป็นของแถมไปด้วย