หลาย ๆ คนคงเริ่มไปโรงเรียนกันบ้างแล้ว
วันนี้พี่ดรุณเลยเอาเรื่องเกี่ยวกับ
การเรียนมาเล่าให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองฟังค่ะ
จุด
เรื่อง : ปีเตอร์ เอช. เรย์โนลด์
แปล : ตุ๊บปอง
สำนักพิมพ์ : แปลน ฟอร์ คิดส์
เรื่องย่อ
หมดชั่วโมงศิลปะแล้ว แต่เด็กหญิงวาชติก็ยังนั่งอยู่หน้ากระดาษที่ขาวโพลน ครูจึงเข้าไปหาวาชติ แล้วชมภาพขาวโพลนนั้น
เด็กหญิงรู้ว่าในนั้นไม่มีอะไร เมื่อครูคะยันคะยอให้เขียนเพิ่ม เด็กหญิงจึงจุดลงไปหนึ่งจึ๊ก ครูขอให้วาชติเซ็นชื่อ
หลังจากนั้นวาชติกลับมานั่งมองรูปจุดของตัวเองอีกครั้ง มอง มอง และมอง เขาคิดว่าตัวเองทำได้มากกว่านั้น
แล้ววาชติก็เริ่ม ลงมือวาดรูปต่าง ๆ ออกมา จนในที่สุดก็มีนิทรรศการจุดของตนเอง
.................................................................................
เรื่องนี้ให้อะไรแก่เราบ้างหนอ
สำหรับเด็ก ๆ เรื่องนี้เป็นเสมือน “จุด“ เริ่มต้นในสิ่งต่าง ๆ ที่บอกให้เด็ก ๆ เข้าใจว่า มันไม่ยากที่จะลงมือทำหรอกนะ
แถมไอ้เจ้าความคิดของเรานั้นเป็นไปได้มากมายหลายอย่างทีเดียวละ แค่เรื่องจุดเพียงเรื่องเดียว
ก็มีการคิดได้ตั้งหลายแบบ เพราะงั้นเรามาลองคิดกันเถอะนะ ว่าจะทำอะไรแตกต่างได้บ้าง
เมื่อเด็ก ๆ ได้คิดในจุดนี้ เด็ก ๆ ก็จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาไปถึงทักษะการแก้ปัญหา
ที่เขาจะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้หลากหลาย
ชีวิตของเขาจะกลายเป็นคนที่ยืดหยุ่น แต่มีไหวพริบที่ฉับไว เพราะได้ฝึกการคิดเยอะแยะ
.................................................................................
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ การเริ่มต้นสิ่งต่าง ๆ ของเด็ก ๆอาจไม่ใช่ที่ตัวกำหนดเป้าหมายของงาน
แต่คือความสนุกและการรักในสิ่งที่จะทำ เด็กพร้อมจะถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองคิดได้เสมอ เพียงแค่เด็กต้องการกำลังใจและการกระตุ้นในบางครั้ง
อย่างในเรื่องคุณครูเอาภาพจุดของวาชติไปใส่กรอบอย่างดี แถมติดไว้เหนือโต๊ะของครู
ยิ่งทำให้ตัวของเด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นได้รับการยอมรับ มันมีคุณค่านะ
เขาก็จะย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง และอยากพัฒนาให้ตนเองได้รับการยอมรับที่มากขึ้น
จากหนังสือทำให้เราเห็นว่า เมื่อเรากระตุ้นโดยไม่มีกรอบบีบจำกัดความคิดว่า นั้นทำไม่ได้ นั้นไม่ใช่อย่างนั้นหรอก
เด็กก็จะเกิดความสามารถทางด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในการคิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ สำหรับวัยเด็กนั้น
การตีกรอบด้วยเหตุผลมากเกินไป ก็จะเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
ทำให้เขาไม่กล้าคิด กล้าถาม หรือกล้าทำอะไร การใฝ่รู้ ใฝ่เรียนด้วยตนเองก็จะไม่ตามมา
.................................................................................
นอกจากนี้ภายในเรื่องยังแนะถึงกลวิธีทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย
และได้ผลดีทีเดียวแต่ไม่ค่อยรู้กันว่าได้ประโยชน์อย่างนั้น นั่นคือการเซ็นชื่อในผลงาน
ในภาพสุดท้ายเราจะสังเกตเห็นว่า ภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการของวาชตินั้น มีการเซ็นชื่อไว้ทุกรูป
นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการลงชื่อในผลงานค่ะ เพราะถ้าเขาภูมิใจกับมัน
เขาก็ย่อมยิ่งอยากบอกให้ทุกคนได้รู้ว่า นี่คือสิ่งที่เขาทำ คือความสามารถของเขา
การเซ็นชื่อนอกจากจะทำให้เรารู้ว่าผลงานเป็นของใครแล้ว สำหรับเด็ก เขาจะรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ
เกิดความรักตนเอง และเป็นการก่อเกิดของ Self ซึ่งนำไปสู่การเห็นคุณค่าแห่งตน ส่งผลให้เขาอยากจะทำมันอีกเรื่อย ๆ
ไม่ว่าจะเป็นอะไร เพราะเขารู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำนี้ได้รับการยอมรับ เมื่อทำอีกเรื่อย ๆ เมื่อมีการผลิตซ้ำ
ก็จะเกิดการพัฒนาต่อยอด ดังนั้นการเริ่มต้นจึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่ก็ง่ายที่สุดในเวลาเดียวกัน หากเราใส่ใจเพียงพอ