Print
Hits: 5701

ว้า เปิดเทอมแล้ว การบ้านเยอะจังเลย มีเรื่องให้ทำตั้งเยอะเลยเชียวนะ
แต่ยุ่งอย่างนี้ก็ว่างมาอ่านหนังสือกันรึเปล่าจ้ะ วันนี้พี่ดรุณขอแนะนำหนังสือเรื่องนี้เลยค่ะ

บีเวอร์งานยุ่ง

เรื่อง : นิโคลาส โอลด์แลนด์
แปล : อริยา ไพฑูรย์
สำนักพิมพ์ : บิ๊กแบร์บุ๊คส์

 

 

เรื่องย่อ 
เจ้าบีเวอร์บ้างานตัวหนึ่ง มันชอบง่วนกับการแทะไม้ไปสร้างเขื่อน จนทำให้ป่ายุ่งเหยิง
แทะแบบไม่ดูอะไร ไม่ดูว่าใครอยู่ใต้ต้นไม้บ้าง บางครั้งยังแทะขาเพื่อนเพราะนึกว่าเป็นต้นไม้
จนเพื่อนเจ็บตัวกันระนาว ในที่สุดบีเวอร์ก็ถูกต้นไม้ที่ตัวเองแทะทับ จนต้องเข้าโรงพยาบาล
เมื่ออยู่ที่โรงพยาบาล บีเวอร์ได้หยุดนิ่ง มันจึงเริ่มคิด แล้วเห็นภาพที่มันก่อไว้ข้างนอกหน้าต่าง
ป่าที่ยุ่งเหยิง เพื่อนที่เต็มไปด้วยผ้าพันแผลไม่ต่างจากมัน เมื่อถึงเวลาเจ้าบีเวอร์ได้กลับบ้านแล้ว
มันก็เริ่มสำรวจความเสียหายที่มันก่อไว้ และเริ่มซ่อมแซม ช่วยเหลือเพื่อนทุกตัว
ในที่สุดป่าก็กลับมาสงบดังเดิม

 

.................................................................................

 

 

เรื่องนี้บอกอะไรแก่เราบ้างหนอ

สำหรับเรื่องบีเวอร์งานยุ่งได้บอกอะไรแก่เราหลายอย่างเลยล่ะ
มาที่ประเด็นแรกกันก่อน เรื่องงานยุ่ง ๆ ของบีเวอร์ ที่มาพร้อมกับความไม่รอบคอบ

ใช่ว่าจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยดีนะ แต่กลับทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น
ยิ่งเจ้าบีเวอร์อยากซ่อมแซมเขื่อนเร็วเท่าไหร่ เขื่อนก็ไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จมากเท่านั้น
แถมยังพังลงเรื่อย ๆ อีกต่างหาก ดังนั้นการทำงานของเจ้าบีเวอร์จึงสะท้อนกลับมา
ให้ได้คิดว่า ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม การค่อย ๆ ทำและมองอย่างถ้วนถี่
ก็จะทำให้เราเข้าใจว่า ต้องทำอะไรและอย่างไรต่อไป มากกว่าการตั้งหน้าตั้งตาทำโดยไม่คิด

 

.................................................................................

 

ประเด็นที่สอง การมีเวลาว่าง

เวลาว่างนี่ดีอย่างไรนะ เมื่อมีเวลาว่าง โดยไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเล่นเกม
ดูทีวี หรือเรียนพิเศษ เราก็จะได้หยุดคิด และพิจารณาถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราจะเริ่มตามความรู้สึกของตนเองทัน เริ่มเห็นภาพรวม และรู้ความต้องการของตนเอง
ว่าจะต้องคิดหรือทำอย่างไรต่อไป ดังนั้นการว่างก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการเรียนรู้
และในเวลานี้นอกจากจะแก้ปัญหาได้ เราก็จะพบว่าเราอยากทำอะไรต่อไป
กิจกรรมต่าง ๆ ก็จะผุดขึ้นมามากมาย ให้เราได้ทดลองลงมือทำ

 

.................................................................................

 

 

ประเด็นที่สาม ขอโทษ

ภายในเรื่องได้ใช้เทคนิคทางพฤติกรรมนิยมในการปรับพฤติกรรม นั่นคือ
การฝึกการขอโทษหน้ากระจก ซึ่งจะเป็นการฝึกซ้อมและสร้างความมั่นใจ
ให้แก่คนที่ไม่มั่นใจในตนเอง ว่าจะเริ่มต้นแก้ไขตัวเองอย่างไรนะ
การฝึกขอโทษหน้ากระจกจะเป็นการทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความมั่นใจใน
แนวทางที่ทำระหว่างที่กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงตัวนั่นเอง

 

.................................................................................

 

 

ประเด็นที่สี่ การให้น้ำหนักกับความพยายาม

เรื่องในนิทานสามารถตัดออกมาที่เจ้าบีเวอร์ออกจากโรงพยาบาลได้เสียด้วยซ้ำ
แต่ผู้แต่งกลับนำเสนอให้เราเห็นว่าเจ้าบีเวอร์พยายามแค่ไหนที่จะฝึกฝนตัวเอง

ให้พร้อมที่จะออกไปเผชิญกับปัญหาที่ตนเองก่อ ดังนั้นสิ่งนี้จะเป็นเสมือน
การชี้แนะแนวทางให้แก่เด็ก ๆ ได้เข้าใจว่า การปรับตัวหรือแก้ไขตัวตนนั้น
ต้องใช้ความเพียรและพยายาม ที่จะพัฒนาและปรับปรุงตัว 
นอกจากนี้เรื่องยังเสนอให้อีกว่า แม้เราจะพยายามเปลี่ยนแปลงแล้ว
เพื่อน ๆ ก็ยังหวาดผวาเราในระยะแรก ดังนั้นการเพียรอดทนทำตามที่เรามุ่งมั่นไว้
เพื่อนย่อมมองเห็นได้แน่ และสักวันเพื่อนก็จะให้อภัยแก่เรา

 

.................................................................................

 

ประเด็นที่ห้า การรับผิดชอบต่อผลที่ทำ

เมื่อเจ้าบีเวอร์ออกจากโรงพยาบาลก็ตั้งหน้าตั้งตารับผิดชอบต่อป่าและเพื่อน
ที่มันก่อเรื่องไว้จนยุ่งเหยิง ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่สอนเด็ก ๆ ให้กล้าเผชิญหน้าต่อ
ปัญหาที่พวกเขาได้ก่อไว้ และยังเป็นการสร้างทัศนคติต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะสุดท้ายแล้วเพื่อนก็เห็นการปรับปรุงตัวและสภาพแวดล้อม
ที่เปลี่ยนไปเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิม

 

.................................................................................

 

โอ้โห เรื่องของบีเวอร์งานยุ่งที่บอกอะไรได้มากมายทีเดียว ซึ่งนิทานในเรื่องอื่น ๆ
ก็ยังแฝงข้อคิดไว้เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีเพียงประเด็นเดียวเสมอไป

 

ดังนั้นเวลาอ่านนิทานจึงน่าสนุกอย่างไรล่ะ
เพราะว่าเมื่อประสบการณ์ของเด็ก ๆ มากขึ้น การเข้าใจในนิทานการจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
จนทำให้เกิดข้อคิดที่ได้จากนิทานออกมาเยอะแยะเชียวล่ะ